วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ มีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้รับสถาปนาเป็นกรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารบก ที่ประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส

สำเร็จการศึกษาแล้วเสด็จกลับประเทศไทย เข้ารับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ ที่ ๑ รักษาพระองค์ ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย ต่อมาได้รับราชการในตำแหน่ง ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปฐม ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ แล้วได้ทรงกรมเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ในช่วงเวลาที่ เศรษฐกิจของประเทศและของโลกกำลังทรุดหนัก อันเป็นผลเนื่องมาจากสงครามโลก ครั้งที่ ๑ ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงแก้ไขอย่างเต็มพระกำลังความสามารถจนประเทศไทย ได้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์นั้นได้

ในรัชสมัยของพระองค์ ไทยสามารถติดต่อกับนานาประเทศทางวิทยุและโทรเลขได้โดยทั่วไปเป็นครั้งแรก ทรงพระราชทานนามหอสมุดแห่งชาติพิมพ์พระไตรปิฎกเล่มใหม่ สร้างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า รัชกาลที่ 6 เป็นผู้สร้าง แต่ในความจริง โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเกิดจากการรวมกันระหว่าง โรงเรียนราชวิทยาลัย+โรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ร.6ตั้ง เพราะรัชกาลที่ 7 ต้องการให้เป็นอนุสรณ์ของร.6ที่ทรงตั้ง แต่เนื่องจากภาวะเศรษกิจตกต่ำ จึงยุบทั้ง2 โรงเรียนมารวมกัน กลายเป็น "วชิราวุธวิทยาลัย") เปิดเดินรถไฟไปถึงชายแดนไทยติดต่อกับเขมร แก้ไขระบบการจัดเก็บภาษีอากรใหม่ ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประกาศพระราชบัญญัติเงินตรา และทรงตรากฎหมายอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก สร้างสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ)

วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระองค์ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ ต่อมาได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ ประเทศอังกฤษ

พระราชหัตถเลขาที่ทรงลาออกจากราชบัลลังค์ มีความตอนหนึ่งว่า

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น